ชัย ชิดชอบ (5 เมษายน พ.ศ. 2471 — ) เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร?แบบสัดส่วน พรรคภูมิใจไทย ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคพลังประชาชน ในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรแทนนายยงยุทธ ติยะไพรัช ที่โดนใบแดง ก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)หลายสมัย และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)จังหวัดบุรีรัมย์
นายชัย ชิดชอบ เกิดที่จังหวัดสุรินทร์ จบการศึกษาชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนสุรวิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์
นายชัย ชิดชอบ ใช้วุฒิการศึกษา ม.6 ถึง พ.ศ. 2539 ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 กำหนดให้ ส.ส. ต้องจบปริญญาตรี นายชัย จึงสมัครเรียนต่อ ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาตรี สาขาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ชีวิตส่วนตัว นายชัย ชิดชอบ สมรสกับนางละออง ชิดชอบ มีบุตรชาย 5 คน หญิง 1 คน บุตรคนกลางคือนายเนวิน ชิดชอบ นายชัยชื่นชอบนักการเมืองชาวอิสราเอลคนหนึ่ง ที่ชื่อ โมเช่ ดายัน ถึงขนาดตั้งฉายาให้ตัวเองว่า "ชัย โมเช่"
นายชัย ชิดชอบ เริ่มงานการเมืองจากการเมืองท้องถิ่น เป็นกำนันตำบลอิสาน อำเภอเมืองบุรีรัมย์ และทำธุรกิจโรงโม่หิน ชื่อโรงโม่หินศิลาชัย ที่อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มงานการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2500 โดยสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ พรรคประชาธิปัตย์ แต่สอบตก และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดบุรีรัมย์หลายสมัยติดต่อกัน ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2512 (อิสระ) , 2522 (พรรคประชาราษฎร์), 2526 (พรรคกิจสังคม), 2529 (พรรคสหประชาธิปไตย) , 2535/2 2538 (พรรคชาติไทย) , 2539 (พรรคเอกภาพ) ? เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร?แบบบัญชีรายชื่อ พ.ศ. 2548 (พรรคไทยรักไทย) และสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดบุรีรัมย์ พ.ศ. 2549
นายชัย ชิดชอบ ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกครอบครองที่ดินสงวนของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ และการรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการแจ้งให้กรมที่ดินเพิกถอนที่ดินดังกล่าว
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 2
นายชัย ชิดชอบ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 (ก่อนหน้านี้นายชัยได้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาฯชั่วคราว ในการคัดสรรผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานสภาฯซึ่งนายยงยุทธ ได้รับเลือกไป เนื่องจากนายชัยเป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในสภาฯ) นายชัยได้ทำหน้าที่ประธานโดยได้ขึ้นนั่งบนบัลลังก์ โดยที่เจ้าหน้าที่ยังมิได้อ่านประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งตามธรรมเนียม ทำให้นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส. ฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์ได้ทักท้วง ซึ่งนายชัยอ้างว่าจะรีบไปงานศพ ทั้งนี้ ขณะที่นายชัยจะคุกเข่าสดับพระบรมราชโองการฯ ก็เกิดเซคะมำ และเมื่อคุกเข่ารับฟังเสร็จแล้ว เมื่อจะลุกขึ้นก็ลุกไม่ขึ้น แต่นายชัยก็พยายามจะลุกให้ได้ จึงทำให้เซถลาไปข้างหน้า จนนายนิสิต สินธุไพร ส.ส. ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน ที่มาร่วมในพิธีด้วย รีบเข้าไปพยุงนายชัยให้ยืนขึ้นเป็นปรกติ และเดินกลับไปห้องประชุมได้
อนึ่ง ขณะปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 นายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ ส.ส. หนองบัวลำภู พรรคพลังประชาชน ได้เสนอ นายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส. สกลนคร พรรคพลังประชาชน เป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แต่นายจุมพฏไม่เห็นชอบด้วย นายพิษณุจึงมีทีท่าจะเสนอคนอื่นแทน นายชัย ชิดชอบ จึงกล่าวขึ้นกลางที่ประชุมว่า "จะเสนอใครถามเจ้าตัวก่อนว่าเขารับหรือไม่ เจ้าตัวไม่เอายังเสือกเสนออยู่อีก จะเสนอใครก็รีบเสนอ เสียเวล่ำเวลา" ท่ามกลางความตกตะลึงของ ส.ส. ในที่ประชุม อย่างไรก็ดี ความหงุดหงิดของนายชัยเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มประชุมแล้ว เนื่องจากความไม่พร้อมเพรียงของ ส.ส. ที่เข้าประชุม จนนายชัยต้องกดสัญญาณเรียกถึงหกครั้ง และสั่งให้นับองค์ประชุมอีกหลายครั้ง ทั้งนี้ ในวันต่อมา นายชัยก็ได้กล่าวขอโทษ ส.ส. สำหรับกรณีดังกล่าว
ด้วยความที่นายชัย ชิดชอบ ได้กลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งเมื่อมีอายุมากแล้ว จึงได้รับการเรียกขานเล่น ๆ จากสื่อมวลชน ว่า "ปู่ชัย" หรือ "ลุงชัย" และในปลายปี พ.ศ. 2552 ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาว่า "ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์" อันเนื่องจากการทำหน้าที่ประธานสภาฯที่มีลูกล่อลูกชนและมีมุกตลกแพรวพราวเสมอ